+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  ผักแว่น
ชื่อวิทยาศาสตร์  Marsilea crenata C. Presl
ชื่อสามัญ  Water clover, Water fern, Pepperwort
ชื่อท้องถิ่น  ผักลิ้นปี่ (ภาคใต้), หนูเต๊าะ (กระเหรี่ยง ภาคเหนือ), ผักแว่น (ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ต้น ไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์น ลำต้นอาจสูงถึง 20 เซนติเมตร เจริญเติบโตในน้ำตื้น มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อย และแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อน ขึ้นปกคลุมและใบอยู่เหนือน้ำ ต้นอ่อนมีสีเขียว ต้นแก่มีสีน้ำตาล รากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินและในน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถา ไหล สปอร์
- ใบ เป็นใบประกอบแบบพัด โดยมีใบย่อย 4 ใบคล้ายกังหัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปลิ่มหรือเป็นไข่กลับ แต่ละใบย่อยมีขนาดเท่ากัน ออกจากตรงกลางจากตำแหน่งเดียวกันเป็นลักษณะกลม โดยขนาดของใบย่อยมีความกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.8-1.8 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีลักษณะเรียบและไม่มีขน ใบย่อยไม่มีก้าน ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 4.5-15 เซนติเมตร ใบมีสปอร์โรคาร์ป (Sporocarps) ออกที่โคนก้านใบเป็นก้อนแข็ง ออกเดี่ยว หรือออกหลายอัน มีสีดำ ก้านยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ลักษณะของสปอโรคาร์ปรูปขอบขนานยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร บนก้านชูสั้น โดยออกที่โคนก้านใบ ก้านอ่อนมีสีเขียว ก้านแก่มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำและร่วงได้ง่าย ภายในมีสปอร์จำนวนมาก
- ดอก ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นหลายดอกแทงออกบริเวณซอกใบที่ข้อปล้อง ตัวดอกมีก้านดอกขนาดเล็กสีเขียว มีขนปกคลุม ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ปลายก้านดอกเป็นตัวดอก ประกอบด้วยกลีบดอกสีเหลืองสด โดยจำนวนดอกต่อต้นจะพบจำนวนน้อย ถัดจากก้านดอกเป็นตัวดอกที่มีใบประดับขนาดเล็กรูปหอกสีเขียว ขนาด 2-4 × 1 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นกลีบดอกจำนวน 5 กลีบ มีลักษณะรูปไข่กลับแกมขอบขนาน แผ่นกลีบดอกมีสีเหลืองสด ขนาดกลีบดอกกว้าง 3-8 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน
- ผล หรือ สปอร์ มีสปอร์เป็นก้อนแข็ง ๆ สีดำ รูปขนาน หรือรูปรีคล้ายเมล็ดถั่วเขียว ออกที่โคนก้านใบขณะอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ
สรรพคุณทางยา  1. ผักแว่นมีธาตุเหล็กสูง จึงช่วยในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง
2. ช่วยลดไข้ ถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน
3. ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ
4. แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
5. ช่วยบำรุงสายตา รักษาโรคตาอักเสบ รักษาต้อกระจก ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน
6. น้ำที่ได้จากการนำใบผักแว่นมาต้มช่วยสมานแผลในปากและลำคอได้ ช่วยรักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น
7. ช่วยแก้เจ็บคอ อาการเสียงแหบ
8. น้ำที่ได้จากการนำใบสดมาต้มช่วยแก้อาการท้องเสีย
9. ช่วยขับปัสสาวะ
10. ใบสดใช้เป็นยาภายนอก ช่วยรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยในการสมานแผล และช่วยลดการอักเสบ
11. ช่วยรักษาโรคเกาต์
การนำไปใช้ประโยชน์  - ใบอ่อน ยอดอ่อน และก้านใบใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ซุปหน่อไม้ ใช้เป็นเครื่องเคียงกับอาหารชนิดต่าง ๆ หรือนำไปใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกงจืด แกงอ่อม เจียวไข่ เป็นต้น และเมื่อนำมาต้มจะมีลักษณะอ่อนนิ่มทำให้รับประทานได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ในปัจจุบันมีการนำผักแว่นไปพัฒนาเป็นยาชนิดครีมที่นำมาใช้ทาเพื่อรักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัด
อ้างอิง  เมดไทย. (2563) ผักแว่น. สืบค้น 16 เมษายน 2565, จาก https://medthai.com/ผักแว่น/ Puechkaset. (2563). ผักแว่น ชนิด ประโยชน์ สรรพคุณและการปลูกผักแว่น. สืบค้น 16 เมษายน 2565, จาก https://puechkaset.com/ผักแว่น/ Disthai. (2560). ผักแว่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย. สืบค้น 16 เมษายน 2565, จาก https://www.disthai.com/ผักแว่น/
ไฟล์