+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++
|
ชื่อสมุนไพร |
เท้ายายม่อม |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze |
ชื่อสามัญ |
East Indian arrow root |
ชื่อท้องถิ่น |
บุกรอ (ตราด), สิงโตดำ (กรุงเทพฯ), นางนวล (ระยอง), ไม้เท้าฤาษี (ภาคกลาง), ท้าวยายม่อม ว่านพญาหอกหลอก |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ |
- ต้น ไม้ล้มลุก ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีแป้งในหัวใต้ดินสะสมอาหาร ลักษณะของหัวเป็นรูปกลม กลมแบน หรือรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว ผิวด้านนอกบางเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวเป็นสีขาวใส ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือการแยกหัว - ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก เป็นรูปฝ่ามือ ปลายแยกออกเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกขอบมีลักษณะเว้าลึก ใบรูปฝ่ามือมีขนาดกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมกาบใบยาวประมาณ 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบมีสีดำแกมเขียว
- ดอก เป็นช่อแบบซี่ร่ม แทงช่อสูงออกมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกจะออกที่ปลายยอด ก้านดอกเป็นสีม่วงอมเขียวมีลาย ช่อดอกมีประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวอาจถึง 170 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 20-40 ดอก กลีบรวมมีสีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอมม่วงเข้ม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด เชื่อมติดกัน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงในเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ส่วนวงนอกเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.4-0.7 เซนติเมตร แผ่นกลีบประดับเป็นสีเขียวเข้ม มีประมาณ 4-12 อัน เรียง 2 วง มีขนาดเกือบเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ชั้นใบประดับมีสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาลรองรับ ลักษณะเป็นรูปเส้นด้ายยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีประมาณ 20-40 อัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ก้านเกสรเพศเมียสั้น ปลายแยกเป็น 3 แฉก
- ผล ผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมหรือรูปทรงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดประมาณ 5-8 x 4-6 มิลลิเมตร ที่ผิวเมล็ดมีลาย |
สรรพคุณทางยา |
1. เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง
2. หัวนำมาใช้ประกอบอาหารมีสรรพคุณเป็นยาทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนใน และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร
3. รากเป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ
4. หัวหรือรากนำมาฝนกับน้ำมะนาวใช้ทาเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ
5. แป้งรักษาผดผื่นคัน พอกฝีแผล ช้ำ ถอนพิษ |
การนำไปใช้ประโยชน์ |
- แป้งที่สกัดได้สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารและทำขนมได้หลายชนิดจะให้ความเข้มเหนียวหนืดและใส เช่น ขนมชั้น ขนมเปียกปูน ขนมฟักทอง ขนมมันสำปะหลัง ขนมหัวผักกาด ขนมถ้วยหน้ากะทิ ลอดช่องกะทิ กะละแมเสวย ข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น สำหรับอาหารคาวนำมาเป็นส่วนผสมในซุปเห็ดเจ ราดหน้า กระเพาะปลา หอยทอด ส่วนดอกและยอดอ่อนนำมาต้มจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ นอกจากนี้อาจใช้แป้งเป็นเครื่องประทินผิว ลดสิวฝ้า ทำให้หน้าขาวได้ ด้วยการนำแป้งเท้ายายม่อมผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออก หรือนำมาใช้ผัดหน้าแทนแป้งฝุ่น |
อ้างอิง |
เมดไทย. (2563) เท้ายายม่อม. สืบค้น 29 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/เท้ายายม่อม/
puechkaset. (2560) เท้ายายม่อม (Thahiti arrowroot) สรรพคุณ และการปลูกเท้ายายม่อม.
สืบค้น 29 มีนาคม 2565, จาก https://puechkaset.com/ เท้ายายม่อม/ |
ไฟล์ |
|