+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  กะเพรา
ชื่อวิทยาศาสตร์  Ocimum tenuiflorum L.
ชื่อสามัญ  Holy basil, Thai basil, Sacred basil.
ชื่อท้องถิ่น  กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่), ห่อกวอซู ห่อตูปลู อิ่มคิมหลำ (แม่ฮ่องสอน),กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง (ภาคกลาง), อีตู่ไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.3 – 1.0 เมตร ลำต้นตั้งตรง ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โคนต้นแข็ง มีขนคลุมทั่ว แตกกิ่งก้านสาขามาก และมีกลิ่นหอมแรง กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่า กะเพราขาว มีใบและลำต้นสีเขียว กะเพราแดง มีใบและลำต้นสีแดงอมเขียว
- ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงข้ามในแต่ละข้อของลำต้นและกิ่ง ลักษณะใบรูปรีหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบบางสีเขียวหรือสีแดง และมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบสีเขียวหรือสีแดงแล้วแต่พันธุ์
- ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกช่อที่ยอดหรือปลายกิ่ง ริ้วประดับรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบมีขน ดอกย่อยแบบสมมาตรด้านข้าง ก้านดอกโค้งยาวมีขน มีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นปาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงหรือสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีแฉกมนๆ 4 แฉก ปากล่างโค้งลง แบน ขอบเรียบ ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว - ผล เปลือกแห้งเมล็ดเดียว มีขนาดเล็ก ปลายมน เกลี้ยง
- เมล็ด ขนาดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาลมีจุดสีเข้ม หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของเมล็ด
สรรพคุณทางยา  1. กะเพราเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรหลายชนิด เช่น ยารักษาตานขโมยสำหรับเด็ก ยาแก้ทางเด็ก
2. ช่วยบำรุงธาตุไฟ ใช้ทำเป็นยาอายุวัฒนะ
3. ช่วยขับลมแก้อาการปวดท้องอุจจาระ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้องและอาการปวดมวนท้องได้เป็นอย่างดี
4. ช่วยย่อยไขมัน ช่วยขับน้ำดี ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
5. ใช้ทำเป็นยารักษากลากเกลื้อน ช่วยแก้ลมพิษ ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
6. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้
7. ช่วยลดระดับไขมันในร่างกายและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
8. ช่วยเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอดบุตร
9. สามารถช่วยดับกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ได้
การนำไปใช้ประโยชน์  - ใช้ในการประกอบอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เช่น ผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดกบ ผัดหมู ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก พล่ากุ้ง หรือนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหาร
อ้างอิง  คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2565). ข้อมูลพืชสมุนไพร. สืบค้น 17 มีนาคม 2565, จาก https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=20 เมดไทย. (2563) กะเพรา. สืบค้น 17 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/กะเพรา/
ไฟล์