+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  ย่านางแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์  Bauhinia strychnifolia Craib
ชื่อสามัญ  -
ชื่อท้องถิ่น  สยาน (ตาก ลำปาง), เครือขยัน (ภาคเหนือ), หญ้านางแดง (ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ), ขยัน เถาขยัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ต้น ไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น มีความยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกเถาเรียบ เถามีขนาดกลาง และมักแบนมีร่องตรงกลาง เปลือกเถาเป็นสีออกเทาน้ำตาล ส่วนเถาแก่มีลักษณะกลมและเป็นสีน้ำตาลแดง มีมือสำหรับการยึดเกาะ ออกเป็นคู่ ปลายม้วนงอ รากมีผิวขรุขระสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยบากตามขวางเล็กทั่วไป ลักษณะของเนื้อไม้ภายในรากเป็นสีน้ำตาลแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการแยกหัว
- ใบ ใบดกและหนาทึบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม หรือเว้าตื้นกึ่งเรียวแหลมถึงมีติ่งหนาม โคนใบมนเว้าตื้น หรือมีลักษณะกลมถึงรูปหัวใจตื้น ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตรยาว 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมันสีเขียวเข้ม ท้องใบและหลังใบเรียบเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบประมาณ 3-5 เส้น ปลายเส้นใบโค้งจรดกัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีหูใบซึ่งหลุดร่วงได้ง่าย
- ดอก เป็นช่อกระจะตามปลายกิ่ง มีรูปทรงเป็นรูปทรงกระบอกแคบ โค้งเล็กน้อย ปลายบานและห้อยลง มีความยาวประมาณ 15-100 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีแดงสดมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ปลายกลีบดอกมีลักษณะมนแหลม ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 3 ก้าน หรือ 5 ก้าน ก้านเกสรเป็นสีแดงยื่นพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก 7 ก้านมีความยาวไม่เท่ากัน รังไข่มีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคลุม ก้านสั้น ส่วนก้านเกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียไม่ชัดเจน มีใบประดับเป็นรูปลิ่ม ติดทน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงเป็นสีแดง 5 กลีบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคลุม สีชมพูอ่อนหรือสีแดง
- ผล ออกผลเป็นฝัก ฝักย่านางแดงมีลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลม ส่วนโคนฝักเป็นมีลักษณะเป็นรูปหอก ฝักยาวประมาณ 15-16 เซนติเมตร เปลือกฝักแข็ง เมื่อแก่จะแตกอ้า ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-9 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร
สรรพคุณทางยา  1. เถาช่วยบำรุงธาตุ ดับพิษร้อนภายในร่างกาย
2. เถาช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคหัวใจบวม
3. เถารากและใบแก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย
4. รากและเหง้าเป็นยาแก้ไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้และแก้ไข้ทั้งปวง
5. เถาและรากช่วยล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่าง
6. เถารากและใบช่วยขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง เป็นยาฆ่าเชื้อราได้
การนำไปใช้ประโยชน์  - ยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและลาบได้ ยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและลาบได้ เปลือกนำมาลอกใช้ทำเป็นเชือก
อ้างอิง  เมดไทย. (2563) ย่านางแดง. สืบค้น 29 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/ย่านางแดง/ อภิสิทธิ์. ย่านางแดง. สืบค้น 29 มีนาคม 2565, จาก https://sites.google.com/a/wtp.ac.th/ wtp09805/laksna-khxng-phl-yanang-daeng
ไฟล์