+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++
|
ชื่อสมุนไพร |
มะอึก |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Solanum stramoniifolium Jacq. |
ชื่อสามัญ |
Solanum, Bolo, Maka |
ชื่อท้องถิ่น |
มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน (ภาคเหนือ), หมากอึก หมักอึก บักเอิก (ภาคอีสาน), อึก ลูกอึก (ภาคใต้), มะอึก (ภาคกลาง), ยั่งคุยดี (กะเหรี่ยง) |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ |
- ต้น พรรณไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 1-2 เมตร ทุกส่วนของต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ลำต้นและใบคล้ายกับมะเขือพวง ต่างกันที่ลำต้นและใบของมะอึกนั้นจะมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย น้ำปานกลาง แข็งแรงทนทานต่อโรค แมลง และดินฟ้าอากาศ
- ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าหรือตัด ขอบใบหยักเว้าเป็นพู มีความกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว มีขนอ่อนปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่าง
- ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ ดอกมีสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลือง เป็นเส้นรวมเป็นยอดแหลม
- ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาด 1.8-2 เซนติเมตร ผิวมีขนยาวหนาแน่น ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ในผลมีเมล็ดแบนจำนวนมากเรียงเป็นแถวอยู่ภายใน และออกผลในช่วงปลายฤดูฝน ส่วนในเรื่องของรสชาติ มะอึกจะมีรสเปรี้ยว ซึ่งรสและกลิ่นจะมีเอกลักษณ์พิเศษ
|
สรรพคุณทางยา |
1. รากมะอึกมีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย
2. ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ แก้อาการไอ
3. ช่วยลดไข้ แก้ไข้
4. ช่วยแก้ปอดบวม
5. ช่วยแก้อาการปวดฟัน
6. ขนของผลมะอึกสามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้
7. ใบใช้เป็นยาพอก แก้อาการคัน ผดผื่นคัน
8. รากช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส |
การนำไปใช้ประโยชน์ |
ผลใช้รับประทานเป็นอาหาร หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลอ่อนหรือผลสุก เช่น การนำมาทำเป็นน้ำพริกมะอึก แกงส้มกับหมูย่าง หรือใส่ส้มตำ แกงเนื้อ แกงปลาย่าง เป็นต้น ช่วยเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้อาหาร โดยจะให้รสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เป็นพิเศษ แตกต่างจากรสเปรี้ยวจากแหล่งอื่น เช่น มะนาว มะม่วง มะขาม มะดัน การรับประทานผลมะอึกช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้ และยังมีธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี |
อ้างอิง |
เมดไทย. (2563) มะอึก. สืบค้น 26 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/มะอึก/ |
ไฟล์ |
|