+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++
|
ชื่อสมุนไพร |
มะเดื่อปล้อง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Ficus hispida L.f. |
ชื่อสามัญ |
Rough-leaf stem fig |
ชื่อท้องถิ่น |
เดื่อสาย (เชียงใหม่), เดื่อปล้อง (นครศรีธรรมราช สระบุรี ภาคเหนือ), เดื่อป่อง (กรุงเทพฯ) |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ |
- ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
สูงได้ถึง 12 เมตร ไม่ผลัดใบ หรือกึ่งผลัดใบ ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนา เปลือกต้นสีเทาปนดำต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นข้อปล้องชัดเจน คล้ายรอยขวั้นเป็นข้อ ตลอดถึงกิ่ง กิ่งอ่อน กลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวขุ่น
- ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 5 – 13 เซนติเมตร ยาว 11 - 28 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบใบมีซี่หยักละเอียดโดยเฉพาะครึ่ง
ปลายบน เนื้อใบคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากปกคลุม ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มใบแก่มีขนหยาบและบน
เส้นใบ ด้านล่าง เส้นใบข้างโค้ง 5 - 9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาว 1/5 ของใบ ก้านใบยาว 1.5 - 4 เซนติเมตรมีต่อมเป็นปม มีหูใบ ยาว 1 - 2.5 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย กิ่งก้านอ้วนสั้น ลำต้นอ่อนกลวง
- ดอก เป็นช่อแบบชนิดช่อมะเดื่อ (syconium) ตามกิ่งและลำต้น อาจพบออกตามโคนต้น หรือ ตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ กิ่งใหญ่อาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร บางครั้งเลื้อยไปตามพื้นดิน หรือพบตามง่าม ใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่นเจริญอยู่บนฐานของดอกที่ห่อหุ้มไว้มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ และมีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนสีเขียว ดอกแก่สีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบ ยาว 1 - 1.5 มิลลิเมตร รูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภทคือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่ม หูด ดอกเพศผู้มี 1 - 2 แถว กลีบรวมจักเป็น 3-4 พู ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ดอกปุ่มหูดไม่มีก้าน กลีบ รวมปกคลุมรังไข่ ดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอกหรือท่อสั้นๆ
- ผล กลมแป้น รูปลูกข่าง ติดเป็นกลุ่มแน่น 10-15 ผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลือง ผลมีขนาด 2.5-4 เซนติเมตร รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ยอดผลแบนหรือบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบจากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และเกล็ดปกคลุมห่างๆ ก้านผลยาว 0.6-2.5 เซนติเมตร มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อ ยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ พบตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ริมลำธาร ออก ดอกราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม ติดผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม |
สรรพคุณทางยา |
1. เปลือกช่วยบำรุงร่างกาย
2. ผลเป็นยาแก้ไข้จับสั่น
3. เปลือกต้นแก้มาลาเรีย
4. รักษาโรคโลหิตจาง
5. ราก ลำต้น เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัด
6. ผลช่วยแก้อาการกระหายน้ำ
7. ผลแห้งใช้เป็นยารักษาแผลในปาก
8. รากและเปลือกต้น แก้อาการท้องเสีย
9. ผลรักษาริดสีดวงทวาร
10. ผลรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
11. เปลือกต้นช่วยรักษาสิวฝ้า |
การนำไปใช้ประโยชน์ |
- ผลใช้รับประทานได้ ผลสุกนำมาทำแยม ใบอ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส่วนช่อดอกและผลอ่อนรับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม ผลดิบใช้รับประทานกับแกงบอน |
อ้างอิง |
โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
(2560). มะเดื่อปล้อง. สืบค้น 20 เมษายน 2565, จาก
http://nakhonpathom.go.th/rspg/plant/detail/7
เมดไทย. (2563) มะเดื่อปล้อง. สืบค้น 20 เมษายน 2565, จาก https://medthai.com/มะเดื่อปล้อง/ |
ไฟล์ |
|