+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  พริกไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์  Piper nigrum L.
ชื่อสามัญ  Pepper
ชื่อท้องถิ่น  พริกน้อย (ภาคเหนือ), พริกไทย (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ไม้เถา ประเภทเลื้อย อาศัยเกาะยึดติดอยู่กับค้าง โดยใช้รากเล็กๆ ที่เจริญออกมาตามข้อของลำต้นเรียกว่า รากตีนตุ๊กแกหรือมือตุ๊กแก เปลือกลำต้นเมื่ออ่อนมีสีเขียว และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลำต้นมีข้อและปล้องมองเห็นได้ชัดเจน ต้นเพศผู้และต้นเพศเมียจะอยู่คนละต้น
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันตามข้อของลำต้นและกิ่งแขนง ลักษณะใบรูปไข่ โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ลักษณะคล้ายใบพลู เนื้อใบแข็ง ผิวใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีสีเขียวออกเทา และมีเส้นใบนูน ส่วนหลังใบมีสีเขียวเข้ม
- ดอก เป็นช่อ เกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง เกสรสีขาวแกมเขียว ช่อดอกขณะอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่มีสีเขียวและปลายช่อดอกห้อยลงดิน
- ผล รูปทรงกลม เรียงบิดตัวกันอย่างหนาแน่นอยู่กับแกนของช่อ ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อนและจะเข้มขึ้นตามอายุของผล ผิวของผลจะมีลักษณะเป็นมันเงาและเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สุกเต็มที่มีสีส้มหรือสีแดง ผลแห้งมีสีดำ
- เมล็ด สีขาวนวล ลักษณะแข็ง รูปร่างค่อนข้างกลม ภายในเมล็ดมีต้นอ่อนขนาดเล็กอยู่ เมล็ดมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและมีรสเผ็ด
สรรพคุณทางยา  1. ขับลมในลำไส้ ขับลมในท้อง แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่น
2. ช่วยขับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย ใช้เป็นสมุนไพรลดน้ำหนัก
3. แก้ลมวิงเวียน แก้ลมชัก แก้โรคลมบ้าหมู
4. ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ
5. แก้ลมพรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม)
6. แก้อติสาร (โรคลงแดง)
7. แก้เสมหะ แก้ไอ
8. ขับเหงื่อ ลดความร้อนในร่างกาย ช่วยขับปัสสาวะ
9. แก้ตาแดง
การนำไปใช้ประโยชน์  - เมล็ดพริกไทยดำและพริกไทยขาว นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเทศเพื่อใช้แต่งกลิ่นอาหาร ทำให้อาหารน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ช่วยถนอมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ให้เก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น พริกไทยอ่อนช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ในอาหารได้ เช่น ผักเผ็ดปลาดุก ผัดเผ็ดหมูป่า และยังสามารถช่วยทำให้ผิวสวย ด้วยการใช้พริกไทย ขมิ้นอ้อย กระชาย แห้วหมู นำมาทุบแล้วดองด้วยน้ำผึ้ง นำมารับประทานก่อนนอนทุกวัน จะช่วยทำให้ผิวสวยใสมากยิ่งขึ้น น้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยช่วยรักษาผู้ติดบุหรี่ โดยช่วยลดความอยากและลดความหงุดหงิด
อ้างอิง  คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2565). ข้อมูลพืชสมุนไพร. สืบค้น 16 มีนาคม 2565, จาก https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=152 เมดไทย. (2563) พริกไทย. สืบค้น 30 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/พริกไทย
ไฟล์