+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  ผักกูด
ชื่อวิทยาศาสตร์   Diplazium esculentum (Retz.) Sw.
ชื่อสามัญ  Paco fern, Small vegetable fern, Vegetable fern
ชื่อท้องถิ่น  ผักกูดขาว (ชลบุรี), หัสดำ (นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี), กูดน้ำ (แม่ฮ่องสอน), ไก้กวิลุ ปู่แปลเด๊าะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), แลโพโด้แหละโพะโด้ะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ต้น เป็นเฟิร์นขนาดใหญ่ที่มีเหง้าตั้งตรง และมีความสูงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป เหง้าปกคลุมไปด้วยใบเกล็ด เกล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เกล็ดมีสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ขอบใบเกล็ดหยักเป็นซี่ มักขึ้นหนาแน่นตามชายป่าที่มีแดดส่องถึง ในบริเวณที่ลุ่มชุ่มน้ำ ริมลำธาร บริเวณต้นน้ำ หนองบึง ชายคลอง ในที่ที่มีน้ำขังแฉะและมีอากาศเย็น รวมไปถึงในพื้นที่เปิดโล่ง หรือในที่ที่มีร่มเงาบ้าง และเจริญ เติบโตได้ดีบริเวณที่ชื้นแฉะ มีความชื้นสูง เติบโตดีในช่วงฤดูฝน
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น มีความยาวได้มากกว่า 1 เมตรและกว้างได้ถึง 50 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ใบย่อย 1-2 คู่ล่างจะเล็กกว่าใบย่อยที่อยู่ช่วงกลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่ได้ถึง 25 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยชั้นกลางมีใบที่มีขนาดใหญ่กว่า มีก้านสั้นหรือกึ่งไม่มีก้าน โคนใบมีลักษณะเว้าเป็นรูปหัวใจหรือเป็นติ่งหู ปลายสอบแหลมมีขนาด 2.5 เซนติเมตร ขอบหยัก ลึกประมาณ 1 ใน 4 ของระยะถึงเส้นกลางใบ ปลายเป็นรูปมน ขอบเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ มีเส้นใบแตกแขนงแบบขนนก มีปลายเส้นถึง 10 คู่ กลุ่มสปอร์อยู่ใกล้และยาวตลอดความยาวของเส้นใบส่วนปลาย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 70 เซนติเมตร
สรรพคุณทางยา  1. ใบช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
2. ใบผักกูดนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน
3. ใบช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด ช่วยลดความดันโลหิตสูง
4. ใบช่วยบำรุงโลหิต แก้โรคโลหิตจาง
5. ใบช่วยบำรุงสายตา
6. ใบช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้
7. ใบช่วยขับปัสสาวะ
8. ใบช่วยแก้พิษอักเสบ
การนำไปใช้ประโยชน์  - ผักกูดมีรสจืดอมหวานและกรอบ ยอดอ่อนและใบอ่อนนิยมนำมาบริโภค และนำมาปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลาย เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงแคร่วมกับผักชนิดต่าง ๆ ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงจืดผักกูดหมูสับ ไข่เจียวผักกูด ผัดกับไข่หรือแหนม นำมาแกงกับปลาน้ำจืด ทำเป็นแกงกะทิกับปลาย่าง ส่วนชาวอีสานจะรับประทานยอดสดร่วมกับลาบ ก้อย ยำ ส้มตำ ปลาป่น นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ลวกหรือต้มให้สุก จิ้มรับประทานคู่กับน้ำพริก ต้นผักกูดสามารถใช้เป็นดัชนีเพื่อชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมได้ บริเวณไหนมีอากาศไม่ดี หรือดินไม่บริสุทธิ์ หรือมีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่เจริญหรือแตกต้นในบริเวณนั้น เพราะผักกูดจะขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ดินสมบูรณ์และไม่มีสารเคมีเจือปน
อ้างอิง  พลังเกษตร. ต้นผักกูด. สืบค้น 19 เมษายน 2565, จาก https://www.palangkaset.com/ผักเศรษฐกิจ/ เมดไทย. (2563) ผักกูด. สืบค้น 19 เมษายน 2565, จาก https://medthai.com/ผักกูด/
ไฟล์