+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  ดอกแค
ชื่อวิทยาศาสตร์  Sesbania grandiflora (L.) Pers.
ชื่อสามัญ  Agasta, Sesban, Vegetable humming bird
ชื่อท้องถิ่น  แคขาว แคแดง แคดอกขาว ดอกแคแดง แคดอกแดง (กรุงเทพ เชียงใหม่), แค แคบ้าน ต้นแค แคบ้านดอกแดง ดอกแคบ้าน (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามาก ไม่เป็นระเบียบ มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร เนื้อไม้อ่อน ที่เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกหนาและมีรอยขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด สามารถเจริญเติบโตได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้น ที่โตเร็ว ปลูกได้ทุกที่ และมักขึ้นตามป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนา มีอายุประมาณ 20 ปี แต่เด็ดใบบ่อยจะทำให้ต้นมีอายุสั้นลง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
- ใบ ใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยขนาดเล็กรูปขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ใบสีเขียว กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
- ดอก คล้ายดอกถั่ว ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ 2-3 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม มีสีขาวหรือสีแดง มีก้านเกสรตัวผู้สีขาวอยู่ 60 อัน กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย
- ผล ฝักกลมยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ผสมเกสรโดยนก ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และมีเมล็ดอยู่ด้านใน ฝักแคมีสีเขียวอ่อน สามารถรับประทานเป็นอาหารได้
- เมล็ด ลักษณะเหมือนลิ่ม กลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด
สรรพคุณทางยา  1. ดอกช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยป้องกันและรักษาอาการหวัด
2. ดอกบรรเทาอาการไข้
3. ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ
4. ดอกช่วยชะลอความแก่ชรา
5. ดอกและยอดช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้
6. ดอกและยอดช่วยบำรุงและรักษาสายตา
7. ดอกและยอดช่วยบำรุงและเสริมสร้างกระดูกและฟัน
8. ใบช่วยขับพยาธิ ช่วยบำรุงและรักษาตับ
9. ใบช่วยบรรเทาอาการของโรคเกาต์
10. ใบแก้อาการฟกช้ำ
11. ใบสดและดอกโตเต็มที่ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ลดอาการไอ
12. ใบช่วยบรรเทาอาการของโรคลมบ้าหมู
13. ฝักช่วยบรรเทาโลหิตจาง
14. ฝักช่วยในเรื่องความจำ ป้องกันการเกิดเนื้องอก
15. เปลือกช่วยรักษาปากเป็นแผล แก้อาการปวดฟัน รำมะนาด
16. เปลือกช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้ท้องเดิน
17. เปลือกช่วยรักษาแผลมีหนอง
18. รากช่วยแก้อาการอักเสบ
การนำไปใช้ประโยชน์  - ดอกแค ฝักอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เมนูดอกแค เช่น แกงแค แกงส้มดอกแค หรือนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงโคกระบือได้ดี ไม้ใช้ทำเป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงได้ ลำต้นนิยมนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนูได้ดี
อ้างอิง  เมดไทย. (2563) ดอกแค. สืบค้น 30 มีนาคม 2565, จาก https://medthai.com/ดอกแค
ไฟล์