+++ [รายละเอียด] ข้อมูลสมุนไพร +++



ชื่อสมุนไพร  ชะมวง
ชื่อวิทยาศาสตร์  Garcinia cowa Roxb. ex Choisy
ชื่อสามัญ  Cowa
ชื่อท้องถิ่น  ส้มป้อง มะป่อง (คนเมือง), หมากโมก (อุดรธานี), มวงส้ม (นครศรีธรรมราช), กะมวง มวง ส้มมวง (ภาคใต้), กานิ (มลายู นราธิวาส), ตระมูง (เขมร), ยอดมวง ส้มม่วง ส้มโมง ส้มป่อง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  - ต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร หรืออาจสูงถึง 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง น้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง
- ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมใบหอกหรือแกมขอบขนาน โคนใบสอบแหลม ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมสีม่วงแดง ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม (สีน้ำเงินเข้ม) บริเวณปลายกิ่งมักแตก 1-3 ยอด หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเปราะ เส้นใบเห็นได้ไม่ชัด แต่ด้านหลังใบจะเห็นเส้นกลาง ส่วนก้านใบเป็นสีแดงมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
- ดอก แยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกตามซอกใบและกิ่ง ดอกตัวผู้จะออกตามกิ่งเป็นกระจุก มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม กลีบดอกมีสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ดอกมีเกสรตัวผู้เทียมเรียงอยู่รอบรังไข่ มีก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
- ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบเป็นมัน มีขนาดประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้มหม่น และมีร่องตื้น ประมาณ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยงประมาณ 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ แต่มียางมากและทำให้ติดฟัน โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
สรรพคุณทางยา  1. ใบช่วยฟอกโลหิต
2. ใบใช้ปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี
3. ผลอ่อน ใบ ดอกและราก เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยถอนพิษไข้
4. ผลและใบช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
5. ผลและใบช่วยแก้อาการไอ
6. ดอก ช่วยในการย่อยอาหาร
การนำไปใช้ประโยชน์  - ผลชะมวงสุกมีสีเหลือง รสเปรี้ยวอมหวานรับประทานเป็นผลไม้ได้หรือผลชะมวงนำมาหั่นเป็นแว่นตากแดดใส่ปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติ ยอดอ่อนหรือใบอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มส้ม ต้มส้มปลาไหล ต้มส้มปลาแห้ง ทำแกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ใช้แกงกับหมู หมูชะมวง หรือนำมาใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น ผลและใบอ่อนใช้ปรุงอาหาร โดยจะมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะดัน ผลและใบแก่เมื่อนำมาหมักจะให้กรด ซึ่งนำมาใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายที่ใช้แกะสลักรูปหนังตะลุง ลำต้นหรือเนื้อไม้ชะมวงสามารถนำมาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้าง หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง เปลือกต้นและยางของต้นชะมวงให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า ยอดอ่อนชะมวงเมื่อนำไปหมักกับจุลินทรีย์จะทำให้เกิดรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ย
อ้างอิง  เมดไทย. (2563) ชะมวง. สืบค้น 18 เมษายน 2565, จาก https://medthai.com/ชะมวง/
ไฟล์